Merry's Care

ซื้อครบ 500 บาท
ส่งฟรี

จุดกำเนิด “พลาสเตอร์ปิดแผล” แท้จริงแล้วมาจาก สามี ที่รักและแคร์ภรรยามากๆ

แชร์

พลาสเตอร์ปิดแผล, พลาสเตอร์

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เป็นแผล…สิ่งแรกที่นึกถึงและต้องตามหาคือ “พลาสเตอร์ปิดแผล”  ซึ่งทุกบ้าน ทุกออฟฟิศ หรือทุกสถานที่ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นนี้ไว้เพื่อช่วยทำแผลในยามฉุกเฉิน

แล้วรู้ไหมว่า…แท้จริงแล้ว พลาสเตอร์ปิดแผล  ถูกคิดค้นและนำมาใช้งานครั้งแรกมาเป็นเวลาล่วงเลยกว่า 100 ปีแล้ว  เริ่มต้นจากสามีท่านหนึ่ง ที่ต้องการประหยัดเวลาในการทำแผลให้กับภรรยา

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 เอิร์ล ดิกสัน พนักงานบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เขามีภรรยาชื่อ โจซิฟิน ดิกสัน เป็นแม่บ้านมือใหม่ ที่มักจะพลาดทำตัวเองบาดเจ็บเป็นประจำ ทำให้ เอิร์ลผู้เป็นสามีต้องคอยดูแล ทำแผลให้ทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยความอยากประหยัดเวลาในการทำแผล เขาจึงคิดนำผ้าก๊อตไปวางไว้บนเทปกาวแล้วพัน ทำให้ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น  นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำพลาสเตอร์ปิดแผล

ต่อมา เอิร์ลจึงนำไอเดียนี้ไปเสนอบริษัทฯ  ซึ่งก็ได้รับการตอบรับในทันที เพราะบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทำแผลชั้นนำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผ้าก็อตหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างดี จึงมีการผลิตพลาสเตอร์ยาออกสู่ตลาดและจำหน่ายโดยหวังให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ง่ายขึ้น

พลาสเตอร์ปิดแผล, พลาสเตอร์

แม้ในตอนแรกจะไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องด้วยพลาสเตอร์ปิดแผลในช่วงเริ่มต้น มีขนาดกว้าง 3 นิ้วและยาว 18 นิ้ว แต่ก็มีปรับขนาดและการใช้งานไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ที่ดี ทำให้กลายเป็นที่นิยมในเวลาต่อมาในชื่อ band-aid  จากนั้นพลาสเตอร์ปิดแผลก็มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านขนาด ชนิดของเทปกาว ยาที่ใช้ ผิวสัมผัสผ้าก็อตที่ได้รับการปรับปรุง หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์ที่มีการฆ่าเชื้อให้สามารถใช้และสัมผัสกับแผลได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

ปัจจุบันในท้องตลาดทั่วโลก มีพลาสเตอร์ปิดแผลหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายขนาด ที่ผลิตออกมาเพื่อให้เหมาะกับบริเวณและรูปร่างต่าง ๆ ของแผล ตัวเทปกาวเองก็ผลิตออกมาจากหลายวัสดุเช่นผ้าที่มีความยืดหยุ่นสูงและติดแน่นแตกต่างไปตามนวัตกรรมและจุดแข็งของแบรนด์นั้นๆ ที่เลือกใช้

แม้พลาสเตอร์จะสะดวกกว่าการทำแผลแบบเดิมๆ แต่ก็จำเป็นต้องเลือก พลาสเตอร์ปิดแผล ที่ดีเหมาะสมกับการใช้งาน โดยต้องไม่ระคายเคืองผิวต่อผู้ใช้ ไม่ทำให้แผลอักเสบ และผ้าก็อตอ่อนนุ่มดูดซับน้ำเหลืองจากแผลได้ดี รวมถึงต้องมีการฆ่าเชื้ออย่างสะอาดไม่ปนเปื้อนอีกด้วย

อ้างอิง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)